ระบบตลาดและเครื่องมือทางการตลาด 
ระบบตลาดและเครื่องมือทางการตลาด
กองส่งเสริมและบริหารระบบตลาด กรมการค้าภายใน

สาระน่ารู้ตลาดกลางประมูลข้าวสาร


ตลาดกลางประมูลข้าวสาร

ที่มาและความสำคัญ
          ภายใต้นโยบายการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวของโลก กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบการรักษาเสถียรภาพ ราคาสินค้าเกษตรส่งเสริมและพัฒนากลไกระบบตลาดสินค้าเกษตร ได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งตลาดกลางประมูลข้าวสารจังหวัดนครสวรรค์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกหลักสำคัญในระบบการค้าสินค้าข้าวสารในอนาคต เป็นกลไกในการเสริมสร้างระบบการค้าข้าวให้เสรี และเป็นธรรม รวมทั้งให้ราคาซื้อขาย ณ ตลาดกลางประมูลข้าวสารเป็นกลไกในการอ้างอิงทั้งในตลาดจริงและตลาดล่วงหน้า เป็นมาตรฐานยอมรับในระบบสากล ทั้งด้านราคา คุณภาพ อันจะเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านบริหารจัดการให้แก่ผู้ประกอบการข้าวสารของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลาดกลางข้าวและพืชไร่จังหวัดนครสวรรค์ (ท่าข้าวกำนันทรง) เป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรในความส่งเสริมของกรมการค้าภายใน ที่อดีตเคยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายเปลือกที่รู้จักกันและยอมรับอย่างกว้างขวาง ประกอบกับจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ในภาคกลางตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง เปรียบเสมือนเป็นเมืองหน้าด่านของภาคเหนือและเป็นศูนย์กลางของแหล่งผลิตข้าว ภาคเหนือ มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณร้อยละ 25 ของพื้นที่ปลูกข้าวของประเทศมีผลผลิตประมาณร้อยละ 30 ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังมีศักยภาพด้านโลจิสติกส์การคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำและทางรถไฟ และเป็นจุดเชื่อมโยงการค้าจากภาคเหนือสู่ภาคกลาง จึงถือเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางในการซื้อ-ขายข้าวสาร ดังนั้นกรมการค้าภายใน ตึงได้ส่งเสริมและ สนับสนุนให้ตลาดกลางข้าวและพืชไร่จังหวัดสวรรค์ (ท่าข้าวกำนันทรง) เป็นตลาดกลางประมูลข้าวสารจังหวัดนครสวรรค์ แห่งแรก โดยได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2554

การดำเนินการ
          กรมการค้าภายใน ได้จัดตั้งตลาดกลางประมูลข้าวสารจังหวัดนครสวรรค์ (ท่าข้าวกำนันทรง) เป็นแห่งแรก และได้จัดตั้งตลาดกลางประมูลข้าวสารแห่งที่ 2 ขึ้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ณ ตลาดกลางข้าวและพืชไร่จังหวัดสุพรรณบุรี (ท่าข้าวเขาใหญ่) เนื่องจากจังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ปลูกข้าวและมีผลผลิตข้างเป็นอันดับ 1 ของภาคกลาง รวมทั้งผู้บริหารตลาดมีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจซื้อขายข้าวเปลือกมานานกว่า 15 ปี รับซื้อขายข้าวเปลือกทั้งในจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียง เช่น ชัยนาท สิงห์บุรี ปทุมธานี นครปฐม โดยเริ่มประมูลข้าวสารครั้งแรกในวันที่ 5 กรกฎาคม 2557 และต่อไปจะเปิดให้มีการประมูลเป็นประจำทุกเดือน

ประโยชน์ที่จะได้รับ
1. ประโยชน์ต่อผู้ซื้อ
    (1) สามารถเลือกซื้อได้ตรงตามความต้องการ
    (2) ลดต้นทุน เวลา และงบประมาณในการจัดหาสินค้า
    (3) ได้รับความเป็นธรรมในด้านราคา ปริมาณ และคุณภาพ
    (4) มีความมั่นใจไม่ถูกบิดพลิ้วสัญญา หรือถูกฉ้อโกงจากการซื้อขาย
2. ประโยชน์ต่อผู้ขาย
    (1) มีช่องทางและโอกาสในการจำหน่ายสินค้าที่โปร่งใสและเป็นธรรม
    (2) สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เป็นธรรม
    (3) ระบบการชำระราคามีความโปร่งใสและยุติธรรม
    (4) ประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำการตลาด
3.ประโยชน์ต่อระบบการค้าข้าวสารของประเทศ
    (1) โครงสร้างตลาดค้าข้าวสารมีการแข่งขันมากขึ้น
    (2) ประเทศมีระบบและกลไกตลาดค้าข้าว ที่มีความครบวงจรทั้งระบบตลาดข้าวเปลือกและข้าวสารในระบบตลาดจริง และระบบการซื้อขายข้าวสารในระบบตลาดล่วงหน้า
    (3) ราคาข้าวสารสะท้อนความต้องการอย่างแท้จริง และสามารถเชื่อมโยงกับระบบตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้
    (4) ตลาดกลางประมูลข้าวสารเป็นกลไกในการสร้างราคา และเป็นผู้ชี้นำราคาข้าวสารในตลาดโลก
    (5) ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวโลก
 

------------------------------------------------