ระบบตลาดและเครื่องมือทางการตลาด 
ระบบตลาดและเครื่องมือทางการตลาด
กองส่งเสริมและบริหารระบบตลาด กรมการค้าภายใน

สาระน่ารู้ตลาดกลาง



ตลาดกลางสินค้าเกษตร

ตลาดกลางสินค้าเกษตร คืออะไร
          คือ สถานที่นัดพบเพื่อการซื้อขายสินค้าเกษตรที่มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก เข้ามาทำการซื้อขายโดยตรง ด้วยวิธีการตกลงราคาหรือประมูลราคากันอย่างเปิดเผย ภายใต้ราคาที่เป็นธรรมด้วยการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ คลังเก็บรักษาสินค้า อุปกรณ์ชั่ง ตวง วัดและคัดเกรดสินค้าที่ได้มาตรฐาน รวมถึงบริการด้านข้อมูลข่าวสารทางการตลาดเพื่อประกอบการซื้อขายในตลาดกลางสินค้าเกษตร มิติใหม่ในการส่งเสริมเกษตรไทยให้มีช่องทางในการซื้อขายสินค้าเกษตรอย่างเป็นระบบ และลดปัญหาสินค้าราคาตกต่ำในอนาคต

บทบาทหน้าที่ของเจ้าของตลาดกลาง
          จัดอุปกรณ์มาตรฐาน และเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการ โดยจัดเก็บค่าบริการ ตามอัตราที่กรมการค้าภายในกำหนดตลาดกลางสินค้าเกษตร พร้อมสรรพสำหรับ ผู้ซื้อ เพราะที่นี่จะทำให้คุณ
          - สะดวกซื้อ ด้วยปริมาณสินค้าเกษตรที่หลากหลาย
          - สามารถเปรียบเทียบราคาและคุณภาพได้
          - ได้รับข้อมูลข่าวสารทางการตลาดที่ตรงกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
          - ได้รับบริการรับฝากสินค้าเพื่อปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น เช่นการลดความชื้นหรือขอใช้บริการลานตากของตลาดกลางสินค้าเกษตร

ตลาดกลางสินค้าเกษตรช่วย ภาครัฐ เกื้อหนุนเกษตรกรและผู้ซื้อได้อย่างไร
          1. ช่วยให้มีสถานที่รองรับผลิตผลทางการเกษตรที่ได้มาตรฐาน ทั้งทางด้านคุณภาพและราคาสินค้า
          2. ภาครัฐสามารถเก็บข้อมูลข่าวสารการตลาดมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติ
          3. เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด จนทำให้ราคาตกต่ำ เป็นกลไกทางการตลาดอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสินค้าเกษตรไทยว่าอนาคตจะไปในทิศทางใด

ตลาดกลางสินค้าเกษตร สิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรหรือผู้ขาย มีแต่ได้ไม่มีเสียเพราะ
          1. เป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าเกษตรที่แน่นอน สะดวกต่อการกำหนดระยะเวลาในการขนส่งสินค้า เพื่อลดปัญหาความเสียหายของสินค้าระหว่างการเดินทาง
          2. เกษตรกรหรือผู้ขายสามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรได้ในราคาที่เป็นธรรม ไม่ถูกกดราราคาจากผู้ซื้อ และได้รับเงินจากการขายทันทีเมื่อมีการตกลงซื้อสินค้า
          3. ภายในตลาดกลางสินค้าเกษตร เกษตรกรหรือผู้ขายสามารถฝากผลผลิตไว้ที่ตลาดกลางได้เพื่อรอราคาขายที่ดีกว่า
          4. ตลาดกลาง มีบริการเครื่องชั่ง ตวง วัด ที่ได้มาตรฐานเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทั้งของผู้ซื้อและผู้ขาย
          5. เพื่อให้เกษตรกรหรือผู้ขายมีข้อได้เปรียบในการขายสินค้าเกษตรทางตลาดกลาง จึงอำนวยความสะดวกด้วยแหล่งข้อมูลข่าวสารราคาสินค้าเกษตรทั่วประเทศ ไว้ให้บริการอย่างครบครัน

บทบาทของกรมการค้าภายในต่อการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตร
          กรมการค้าภายใน ได้ส่งเสริมให้เอกชนจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตร ตามนโยบายของรัฐบาลและตามแผนพัฒนาการพาณิชย์ของกระทรวงพาณิชย์ ที่เน้นให้ความสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตร ตลอดจนการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันที่บัญญัติไว้ในมาตรา 84 ว่า รัฐต้องรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุดรวมทั้งส่งเสริมการรวมตัวของเกษตรกรเพื่อวางแผนการเกษตรและรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของเกษตรกร
          ตลาดกลางสินค้าเกษตรในการส่งเสริมของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นสถานที่ที่ผู้ซื้อผู้ขายมาซื้อขายสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นผลิตผลทางเกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรสภาพผลิตผลทางเกษตรกรรมในลักษณะขายส่ง ด้วยวิธีประมูลหรือต่อรองราคา แบ่งได้ 4 ประเภท
          1. ตลาดกลางข้าวและพืชไร่
          2. ตลาดกลางผักและผลไม้
          3. ตลาดกลางสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์ที่แปรสภาพมาจากสัตว์น้ำ
          4. ตลาดประเภทอื่นที่อธิบดีกรมการค้าภายในกำหนด  ปัจจุบันมี 2 ประเภท ได้แก่ (1) ตลาดกลางปลาสวยงามและสัตว์เลี้ยง และ (2) ตลาดกลางดอกไม้และไม้ดอกไม้ประดับ

คุณสมบัติผู้ประสงค์จะขอเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตร ดังนี้
          1. เป็นนิติบุคคล
          2. มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินอันเป็นสถานที่ตั้งตลาด
          3. ที่ดินซึ่งเป็นสถานที่ตั้งตลาดต้องมีแนวเขตที่ดินติดต่อเป็นผืนเดียวกัน และที่ดินต้องมีจำนวน ดังนี้
              (1) ตลาดข้าวและพืชไร่ไม่น้อยกว่า 20 ไร่
              (2) ตลาดผักและผลไม้ไม่น้อยกว่า 10 ไร่
              (3) ตลาดสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่แปรสภาพมาจากสัตว์น้ำไม่น้อยกว่า 10 ไร่
              (4) ตลาดประเภทอื่นที่อธิบดีกรมการค้าภายในกำหนดไม่น้อยกว่า 10 ไร่

เงื่อนไขในการส่งเสริม
          1. สถานที่ตั้งตลาดข้าวและพืชไร่ที่ขอรับการส่งเสริม ต้องมีระยะทางอยู่ห่างจากสถานที่ตั้งตลาดประเภทเดียวกันที่ได้รับการส่งเสริมไปก่อนแล้วไม่น้อยกว่า 30 กิโลเมตร
          2. ตลาดผักและผลไม้ที่จะได้รับการส่งเสริมต้องมีระยะทางอยู่ห่างจากตลาดประเภทเดียวกันที่ได้รับการส่งเสริมไปก่อนแล้วไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร
          3. ตลาดข้าวและพืชไร่ต้องมีสถานที่เก็บข้าวและพืชไร่ขนาดความจุไม่น้อยกว่า1,000 เมตริกตัน ตลาดประเภทอื่นให้มีสถานที่เก็บตามสภาพของสินค้าเกษตร และมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณสินค้าเกษตรที่เข้าสู่ตลาด
          4. ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการซื้อขาย
          5. ต้องมีสถานที่สำหรับซื้อขายเป็นสัดส่วนและจัดไว้ในที่เปิดเผยเพื่อสะดวกในเวลาซื้อขาย
          6. ต้องมีบริการสาธารณูปโภค

การยื่นคำขอรับการส่งเสริมผู้ขอรับการส่งเสริมยื่นคำขอรับการส่งเสริม ณ สำนักงานการค้าภายในจังหวัดแห่งท้องที่ที่ตลาดตั้งอยู่
โดยยื่นเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้
          (1) หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด
          (2) สำเนาใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนสหกรณ์หรือสำเนาใบทะเบียนจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร
          (3) หนังสือมอบอำนาจกรณีที่นิติบุคคลมอบอำนาจให้ผู้อื่นมายื่นคำขอ
          (4) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ยื่นคำขอ
          (5) สำเนาโฉนดที่ดิน สำเนาโฉนดแผนที่ สำเนาโฉนดตราจอง สำเนาตราจองว่า ได้ทำประโยชน์แล้ว สำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 น.ส.3ก. หรือ น.ส.3ข.) หรือสำเนาสัญญาเช่าที่ดินอันเป็นสถานที่ตั้งตลาด
          (6) แผนที่โดยสังเขปแสดงแนวเขตที่ดินทุกแปลงที่ใช้เป็นสถานที่ตั้งตลาด รวมทั้งแนวเขตข้างเคียงตลาด
          (7) แผนที่โดยสังเขปแสดงสถานที่ตั้งของตลาด รวมทั้งแผนผังอาคารตลาด และรายละเอียดสิ่งก่อสร้างบนที่ดินให้ครบถ้วน
          (8) เอกสารแสดงรายละเอียดโครงการหรือแผนการบริหารงานตลาด
          เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน คุณสมบัติของตลาดที่อรับการส่งเสริม รวมทั้งตรวจสอบสภาพและสถานที่ตั้งตลาดให้เป็นไปตามเงื่อนไข นำเสนออธิบดีกรมการค้าภายในหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี  กรณีเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่ กรมการค้าภายใน แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมแก้ไขและยื่นใหม่ให้ถูกต้องครบถ้วน ภายใน 10 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากผู้ยื่นคำขอรับการ ส่งเสริมไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด ให้จำหน่ายคำขอดังกล่าวการพิจารณาให้การส่งเสริม
          1. ผู้ว่าราชการจังหวัดจะพิจารณาคำขอรับการส่งเสริม แล้วให้ความเห็นเบื้องต้นก่อนส่งคำขอดังกล่าวให้อธิบดีกรมการค้าภายใน
          2. อธิบดีกรมการค้าภายในพิจารณาให้การส่งเสริมและออกหนังสือรับรองการเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรให้
          3. การพิจารณาคำขอรับการส่งเสริมให้ดำเนินการแล้วเสร็จ และแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมทราบภายในสี่สิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอรับการส่งเสริม พร้อมเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วน
          4. หนังสือรับรองการเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตร ให้ใช้ได้ห้าปีนับแต่วันที่ออกหนังสือรับรอง

-------------------------------------------------