ระบบตลาดและเครื่องมือทางการตลาด 
ระบบตลาดและเครื่องมือทางการตลาด
กองส่งเสริมและบริหารระบบตลาด กรมการค้าภายใน

สาระน่ารู้ตลาดข้อตกลง


ตลาดข้อตกลง

ความหมาย
          ตลาดข้อตกลง หมายถึง การซื้อขายสินค้าเกษตร ที่มีข้อตกลงไว้ล่วงหน้าระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตหรือสถาบันเกษตรกร กับ ผู้รับซื้อ จะเป็นโรงงานแปรรูป หรือตัวแทนผู้รับซื้อในท้องถิ่นต่างๆ โดยมีการทำสัญญาข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรที่ระบุเงื่อนไขเกี่ยวกับการผลิต และการตลาดของสินค้า ได้แก่ แหล่งผลิต พื้นที่เพาะปลูก ปริมาณ ราคา สถานที่ส่งมอบ ช่วงเวลาการส่งมอบ คุณภาพ การตรวจสอบคุณภาพ การชำระเงิน การให้คำแนะนำทางวิชาการ และการชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการผิดสัญญา เป็นต้น รายละเอียดต่างๆ ของสัญญาข้อตกลงจะแตกต่างกันไปตามชนิดของสินค้าและคู่สัญญา
          กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายจัดให้มีตลาดข้อตกลงขึ้น เพื่อให้เกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ขายได้มีการทำสัญญาข้อตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร กับโรงงานแปรรูปหรือพ่อค้าอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ซื้อ โดยใช้รูปแบบสัญญามาตรฐานภายใต้การดูแลและประสานประโยชน์ของทางราชการ

ความจำเป็น
          การจัดทำตลาดข้อตกลงซื้อขายผลผลิตสินค้าเกษตรระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตกับโรงงานแปรรูป ผู้ส่งออกหรือตัวแทนซึ่งเป็นผู้รับซื้อ เกิดขึ้นเนื่องจากวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกัน เพื่อประโยชน์ซึ่งกันและกัน กล่าวคือ
          - ราคาและปริมาณสินค้าเกษตรมีความผันผวน เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาด้านการขาย ไม่มีหลักประกันรายได้จากการขายสินค้า
          - โรงงานแปรรูปหรือผู้ส่งออกประสบปัญหาในการวางแผนการผลิตและการตลาด ขาดหลักประกันด้านต้นทุน เกิดข้อจำกัดด้านการขยายตลาด
          - ตลาดซื้อขายทันทีไม่สามารถตอบสนองความต้องการของโรงงานแปรรูปและผู้ส่งออกได้
          - เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาด อันถือเป็นทางเลือกใหม่ในการขายสินค้าที่ลดขั้นตอนทางการตลาด ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาและการผลิต

สินค้าที่มีความเหมาะสมในการจัดทำสัญญาข้อตกลง
          การจัดทำตลาดข้อตกลงสินค้าใดๆ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้รับซื้อและผู้ขาย ที่เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการซื้อขายสินค้านั้นๆ อย่างไรก็ตาม ลักษณะหรือคุณสมบัติของผลผลิตเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการพิจารณาว่า ควรจะจัดทำตลาดข้อตกลงหรือไม่ โดยทั่วไปคุณสมบัติของผลผลิตที่มีความเหมาะสมในการจัดทำตลาดข้อตกลง จะมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งประกอบดังต่อไปนี้
          1. เป็นสินค้าที่มีลักษณะเน่าเสียง่าย และต้องส่งให้ถึงผู้บริโภคหรือผู้ใช้ ตามเวลาการส่งมอบที่แน่นอน รวดเร็ว เช่น ผัก และผลไม้ เป็นต้น
          2. เป็นสินค้าที่มีกระบวนการผลิตค่อนข้างยุ่งยาก สลับซับซ้อนในเรื่องการเพาะปลูก การดูแลรักษา การใช้แรงงาน เช่น ยาสูบ ใบชา และการเลี้ยงโคนม เป็นต้น
          3. เป็นสินค้าที่ต้องการแปรรูป และโรงงานที่จะแปรรูปจำเป็นที่จะต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่น ปาล์ม น้ำมัน อ้อย ยางพารา เป็นต้น
          4. เป็นสินค้าที่ตลาดต้องการชนิดและคุณภาพพิเศษ เช่น ข้าวบาสมาติ เมล็ดพันธุ์พืช และโคเนื้อ เป็นต้น

แนวทางในการจัดทำ
          การจัดทำตลาดข้อตกลงสินค้าเกษตรนั้น ผู้ซื้อ ผู้ขายต้องมีความจริงใจซื่อสัตย์ต่อกันแบ่งผลประโยชน์ซึ่งกันและกันด้วยความเป็นธรรม ภายใต้การดูแลและประสานประโยชน์ของทางราชการ ดังนี้
          1. พิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในสินค้าแต่ละชนิด ที่จะนำมาจัดทำตลาดข้อตกลงสินค้าเกษตร
          2. ส่งเสริมการจัดทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายสินค้าเกษตร โดย               
              (1) พิจารณาความพร้อมและความต้องการของเกษตรกร โรงงานแปรรูป ผู้ส่งออกหรือตัวแทนธุรกิจที่ดำเนินการ ให้มีการจัดทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายระหว่างกัน
              (2) จัดประชุมร่วมกันระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดให้มีการจัดทำสัญญาข้อตกลง ตามรูปแบบสัญญามาตรฐาน ที่มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เป็นธรรมอและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย               
              (3) กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลง

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดข้อตกลงประสบผลสำเร็จ
          1. ภาคเอกชนและภาคราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการและวิธีการของตลาดข้อตกลงที่ถูกต้อง รวมทั้งเห็นประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาการจัดทำตลาดข้อตกลง
          2. ผู้รับซื้อและผู้ขายจะต้องมีความต้องการ และมีความพร้อมที่จะดำเนินการซื้อขายสินค้าเกษตรในรูปตลาดข้อตกลงอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
          3. ผู้รับซื้อและผู้ขายจะต้องให้ความร่วมมือเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารการผลิตและการตลาดสินค้าที่จัดทำตลาดข้อตกลงอย่างแท้จริง
          4. แหล่งผลิตและโรงงานแปรรูปจะต้องไม่อยู่ห่างไกลกันมาก เพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง
          5. ผู้รับซื้อและผู้ขายจะต้องรักษาและปฏิบัติตามข้อตกลงเสมือนวินัยของสังคม

สินค้าที่ได้นำสัญญาข้อตกลงมาตรฐานของกรมการค้าภายในไปดำเนินการแล้ว ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้นข้าวโพดสด หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วเขียวผิวมัน ถั่วเขียวผิวดำ(ถั่วแขก) ถั่วเหลือง ข้าวเปลือก ข้าวหอมปทุมธานี1 ข้าวทับทิมสยาม กระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบแดง พริกสดแดง พริกแห้ง ดอกบานไม่รู้โรยแห้ง หัวมันสำปะหลังสด มะเขือเทศ และสับปะรด

ประโยชน์
          1. ด้านเกษตรกร
              (1) มีทางเลือกในการขายผลผลิตของตนเองเพิ่ม ขึ้น อันเป็นการลดขั้นตอนการตลาด
              (2) ขจัดปัญหาในเรื่องตลาดขายผลผลิต
              (3) ประกันรายได้ที่แน่นอนจากการขายผลผลิต
              (4) อาจจะได้รับสินเชื่อเพื่อการผลิต และ/หรือได้ รับเทคนิคและวิทยาการต่างๆ ในการเพิ่มผลผลิตจากผู้ซื้อ
          2. ด้านโรงงานแปรรูป/ผู้ส่งออก/ตัวแทน
              (1) ผลผลิตที่ได้รับจะมีคุณภาพและมาตรฐานตาม ต้องการ ช่วยลดความสูญเสียในกระบวนการผลิต ทำให้ต้นทุนลดลง
              (2) ราคาและปริมาณผลิตที่ได้รับมีเสถียรภาพ
          3.ด้านผู้บริโภคและเศรษฐกิจโดยรวม
              (1) ผู้บริโภคจะได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพดี เป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน
              (2) ทำให้สามารถส่งออกสินค้าชนิดต่างๆ ได้มากขึ้น
              (3) ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
              (4) เกิดการจ้างแรงงาน และสร้างรายได้

 

----------------------------------------------------