ระบบตลาดและเครื่องมือทางการตลาด 
ระบบตลาดและเครื่องมือทางการตลาด
กองส่งเสริมและบริหารระบบตลาด กรมการค้าภายใน

เกี่ยวกับตลาดต้องชม


โครงการตลาดชุมชนเพื่อธุรกิจท้องถิ่น

 

 

1. หลักการและเหตุผล
    รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน และช่วยเหลือธุรกิจSMEs สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตร และประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผ่านตลาดชุมชน โดยใช้กลไกตลาดชุมชน เป็นช่องทางให้กับเกษตรกร และกลุ่มเป้าหมาย ควบคู่กับการพัฒนาสินค้า OTOP และการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) อันเป็นการวางฐานรากของประเทศในอนาคต ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับทราบมาตรการพัฒนาตลาดเพื่อผู้ประกอบการและชุมชนที่กรมการค้าภาย ได้เสนอโครงการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ภายใต้ชื่อ โครงการพัฒนาตลาดชุมชน เพื่อธุรกิจท้องถิ่น เป้าหมาย 231 แห่ง ทั่วประเทศ ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2559-2561) โดยใช้ตลาดชุมชนเป็นกลไกในการขยายช่องทางการตลาดให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และผู้ประกอบการ SMEs เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร สร้างรายได้ให้กับชุมชน และเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้การบริโภคภายในประเทศ และเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 กรมฯ ได้ดำเนินการเปิดตลาดต้องชมแล้ว จำนวน 77 แห่ง ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีแผนดำเนินการเปิดตลาดชุมชน ภายใต้ชื่อ “ตลาดต้องชม” เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของรัฐบาล ควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นธรรมทางการค้า กรมฯ จึงได้กำหนดจัดพิธีเปิดงานตลาดต้องชมตามโครงการตลาดชุมชนเพื่อธุรกิจท้องถิ่น เพื่อเป็นแบบอย่างให้ตลาดอื่นๆ ในการดำเนินการพัฒนาในตลาดชุมชนให้เป็นไปตามเอกลักษณ์พาณิชย์และอัตลักษณ์ชุมชนต่อไป

2. วัตถุประสงค์
    2.1 เพิ่มช่องทางการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าเกษตร สินค้าหัตถกรรม สินค้า OTOP และสินค้าของชุมชน ให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ธุรกิจSMEs สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรในชุมชม 
    2.2 เชื่อมโยงการจำหน่ายสินค้าของชุมชน โดยไม่ผ่านพ่อค้ากลาง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้สินค้าในราคาที่เป็นธรรม 
     2.3 กระตุ้นระบบเศรษฐกิจของชุมชน โดยใช้การบริโภคภายในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียงเป็นตัวขับเคลื่อน และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ควบคู่กับการสืบสานเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชุมชน 
    2.4 สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการเป็นตลาดชุมชนในวงกว้าง เพื่อประชาสัมพันธ์และจูงใจให้เกิดการซื้อขายและเข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดชุมชน

3. กลุ่มเป้าหมาย
    ผู้ผลิตสินค้า ได้แก่ ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ธุรกิจ SMEs สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และกลุ่มเกษตรกร และผู้บริโภคภายในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง

4. สถานที่ดำเนินการ
    เป้าหมาย 231 แห่ง ทั่วประเทศ ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2559-2561)

5. ระยะเวลาดำเนินการ
    เดือนธันวาคม 2558 – กันยายน 2561

6. วิธีการดำเนินงาน
    ดำเนินการจัดพิธีเปิดงานตลาดต้องชมและกิจกรรมอื่นๆ โดยมีรายละเอียดการดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 
    6.1 ออกแบบ และปรับปรุงภูมิทัศน์ตลาด รวมทั้งพื้นที่ตลาดบริเวณโดยรอบให้มีความเป็นระเบียบ สวยงาม และเหมาะสมกับการเป็นตลาดต้อง   ชม โดยมีการจัดพื้นที่จำหน่ายสินค้าและพื้นที่ทานอาหารอย่างเป็นสัดส่วน และมีจุดถ่ายภาพ (Photo Landmark) ที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของวิถีชุมชน พร้อมทั้งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในการซื้อขายให้มีสุขอนามัยที่ดีและเกิดความเป็นธรรมในการซื้อขาย ได้แก่ เครื่องชั่งกลาง หรือถังขยะ และสกรีนข้อความและโลโก้ตลาดต้องชม 
    6.2 จัดพิธีเปิดงานตลาดต้องชม โดยต้องออกแบบ วางผังการจัดงาน และดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดพิธีเปิดงาน พร้อมทั้งจัดทำเวทีหรือซุ้มทางเข้าที่มีชื่อตลาด โลโก้ตลาดต้องชม สัญลักษณ์กรมการค้าภายใน จัดหาซุ้มหรือโต๊ะสำหรับลงทะเบียน วางอาหารว่างและเครื่องดื่ม จัดหาเก้าอี้สำหรับผู้เข้าร่วมงาน จำนวนตามความเหมาะสมของผู้เข้าร่วมงานในแต่ละตลาด 
    6.3 จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น โดยบริหารจัดการจัดหาและจำหน่ายสินค้าในราคาพิเศษตามชนิดและปริมาณ ภายใต้วงเงินชดเชยในการจำหน่ายตามที่จ่ายจริงไม่เกินวงเงินที่กำหนดและตามความเหมาะสม รวมทั้งเชื่อมโยงการซื้อขายสินค้าเกษตร สินค้าหัตถกรรม สินค้า OTOP ของชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงมาจำหน่าย 
    6.4 เชิญชวนร้านอาหารปรุงสำเร็จในตลาด ร่วมเป็นร้านหนูณิชย์ 
    6.5 ประชาสัมพันธ์พิธีเปิดและสร้างการรับรู้การเป็นตลาดต้องชมผ่านสื่อต่างๆ อาทิ ป้ายชื่อตลาด ป้ายประชาสัมพันธ์การจัดงาน ป้ายบอกทาง รถแห่ เสียงตามสาย เขียนบทความหรือข่าวประชาสัมพันธ์ตลาดต้องชม พร้อมทั้งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ และสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

7. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
    7.1 ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ธุรกิจ SMEs สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรในชุมชน มีสถานที่จำหน่ายสินค้า อันเป็นการเพิ่มรายได้ 
   7.2 ประชาชนในพื้นที่หรือชุมชนใกล้เคียง ได้ทราบถึงการมีอยู่ของตลาดชุมชน ซึ่งเพิ่มโอกาสและทางเลือกในการจับจ่ายสินค้า อันเป็นการช่วยลดภาระรายจ่ายของประชาชนในชุมชน 
    7.3 เศรษฐกิจชุมชนเกิดการหมุนเวียน ซึ่งส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

....................................................................

 


กองส่งเสริมและบริหารระบบตลาด 
ธันวาคม 2558